ว่ากันว่าการพัฒนาเกมในยุคนี้มีทั้งความยากและง่ายไปพร้อมกัน ที่ว่ายากนั้นมาจากการที่เทคโนโลยีได้รับการพัฒนามากขึ้น ทำให้ขั้นตอนการรังสรรค์เกมทวีความซับซ้อนกว่าเดิม และต้องใช้เวลานานนับปีกว่าจะออกมาเป็นเกมให้เราเล่น
ผลคือการพัฒนาเกมระดับ AAA ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่โปรแกรมเมอร์สองสามคนจะมานั่งใช้เวลาว่างหลังเลิกงานเพื่อพัฒนาอีกต่อไป แต่กลับประกอบไปด้วยบรรดาทีมงานหลายสิบหรืออาจหลายร้อยคนแบ่งหน้าที่กันทำงานเฉพาะอย่าง
ส่วนที่ว่าง่ายก็เพราะโครงสร้างหลักที่เปรียบเหมือนพิมพ์เขียวของตัวเกมซึ่งเรียกว่าเอ็นจิ้น รวมไปถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องสามารถหามาใช้งานได้สะดวกมากขึ้น จึงทำให้ลดขั้นตอนในการพัฒนาลง เพราะแทนที่จะลงมือเขียนโค้ดขึ้นมาตั้งแต่เริ่ม ผู้พัฒนาเพียงไปหาเอ็นจิ้นที่เหมาะสมมาสักตัวก็เริ่มลงมือสร้างเกมได้ทันทีโดยอาศัยทรัพยากรและเครื่องมือที่มี และต่อไปนี้คือเอ็นจิ้นเกม 6 ตัวที่น่าติดตามในปัจจุบันและอนาคต
Source
แน่นอนว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักเอ็นจิ้นจาก Valve Corporation ตัวนี้ เพราะถูกนำมาใช้กับแทบทุกเกมของบริษัทรวมทั้งเกม Counter-Strike: Global Offensive และ DOTA2 ด้วย ตามจริงแล้วต้นกำเนิดของเอ็นจิ้นตัวนี้สามารถสืบย้อนไปได้ถึงเอ็นจิ้น Quake 1 ที่ออกมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เพราะ GoldSouce เอ็นจิ้นแรกของ Valve ซึ่งใช้พัฒนา Half-Life ภาคแรกนั้นถูกพัฒนามาจากเอ็นจิ้นของ Id Software ดังกล่าวนั่นเอง แต่ต่อมาทางบริษัทได้พัฒนาให้เอ็นจิ้นมีความสามารถและประสิทธิภาพมากขึ้น และตัดคำว่า Gold ออกจนเหลือแต่ Source ในปัจจุบัน
จุดแข็งของ Source คือมีความยืดหยุ่นในการพัฒนาสูงมาก รองรับเทคนิคการให้แสงเงาที่หลากหลาย มีเครื่องมือการสร้างสรรค์แอนิเมชั่นมากมาย สามารถเร็นเดอร์ภาพได้อย่างสวยงาม รวมทั้งรายละเอียดฝุ่นผงหรืออนุภาคเล็กๆ ก็สามารถแสดงผลออกมาได้อย่างน่าประทับใจ และที่สำคัญคือกินสเปคเครื่องไม่สูงมาก (เพราะออกมานานแล้ว) อีกทั้งยังมีเครื่องมือการปรับแต่งและชุมชนนักพัฒนาที่พร้อมให้ความช่วยเหลืออีกเป็นตัน
สำหรับจุดด้อยของเอ็นจิ้นตัวนี้ก็คงหนีไม่พ้น ความเก่า จึงทำให้ไม่รองรับลูกเล่นใหม่ใน DirectX 11 หรือ Shader Model รุ่นใหม่ รวมทั้งด้วยการออกแบบเริ่มต้นที่เน้นมาให้ใช้กับเกมยิงในอาคารที่ไม่มีรายละเอียดกราฟิกซับซ้อน (เช่น Portal กับ Team Fortress) จึงทำให้ Source อาจไม่เหมาะกับเกมแนว Open World ที่เน้นฉากกว้างขวางนัก
Id Tech
เอ็นจิ้นน้องใหม่จาก Id Software นี้เพิ่งถูกนำมาใช้งานครั้งแรกกับเกม Rage จากค่ายเดียวกัน รวมถึงนำไปใช้กับเกม Doom ภาคใหม่ด้วย จุดแข็งที่น่าสนใจของเอ็นจิ้นนี้คือมีการใช้เทคโนโลยี MegaTexture ที่เคยเป็นส่วนขยายในเอ็นจิ้น Id Tech 4 (Doom 3, Enemy Territory: Quake Wars) ซึ่งมีแนวคิดง่ายมาก คือแทนที่จะเร็นเดอร์พื้นผิวในฉากทีละส่วนซ้ำ ๆ กัน MegaTexture กลับใช้วิธีการวางพื้นผิวใหญ่ ๆ ก้อนเดียวลงไปในฉาก แล้วจึงดึงมาแสดงผลเฉพาะส่วนที่จำเป็น ทำให้ลดปริมาณการใช้หน่วยความจำของเครื่องลงไปได้มาก และสามารถตอบสนองต่อการแสดงผลฉากขนาดกว้างใหญ่ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น เนื่องด้วยตัวเอ็นจิ้นถูกออกแบบมาให้ใช้งานกับเกมคอนโซลได้ที่ความเร็ว 60 FPS ตลอดเวลาเท่าที่จะทำได้ จึงทำให้เอ็นจิ้นนี้แทบจะไม่มีปัญหากับการใช้งานร่วมกับพีซีประสิทธิภาพปานกลางในปัจจุบัน
สำหรับข้อด้อยของเอ็นจิ้นนี้ก็เกิดมาจากเจ้า MegaTexture ครับ เนื่องด้วยเอ็นจิ้นต้องทำการโหลดพื้นผิวก้อนใหญ่เก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ก่อนที่จะเรียกมาใช้งาน จึงทำให้อาจประสบปัญหาโหลดเกมช้าในเครื่องคอมพิวเตอร์ใดที่มีฮาร์ดดิสก์ความเร็วช้า หรือเกิดปัญหาพื้นผิวผลุบ ๆ โผล่ ๆ รวมทั้งยังพบว่าพื้นผิวบางที่มีรายละเอียดต่ำ และขาดความคมชัด ทั้งนี้ก็เกิดมาจากต้องทำให้เล่นบนคอนโซลได้อย่างลื่นไหลนั่นเอง
Unreal Engine
คงไม่ผิดที่จะกล่าวว่า Unreal Engine คือเอ็นจิ้นที่ได้รับความนิยมที่สุดในปัจจุบัน เพราะได้ถูกนำไปใช้กับเกมระดับตำนานต่างๆ มากมายในหลายเครื่องเล่นเกม ทั้งตระกูล Mass Effect, Gears of War หรือกระทั่ง Infinity Blade ใน iPad! ทั้งหลายทั้งปวงก็เพราะทาง Epic Games ผู้พัฒนา ได้เพิ่มศักยภาพของตัวเอ็นจิ้นให้รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา นอกจากจะรองรับเทคโนโลยีใหม่ใน DirectX 11 และ OpenGL 4.0 แล้ว Unreal Engine ยังสามารถรองรับลูกเล่นการเร็นเดอร์ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น HDR, Soft Shadows, Depth of field การแสดงเงาสะท้อนหรือการจำลองการเคลื่อนไหวของวัตถุอ่อนนุ่มอย่างเสื้อผ้าหน้าผม อีกทั้งยังสามารถใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีเสริมอย่าง Havok และ PhysX ได้ด้วย เรียกได้ว่าครบเครื่องมาก
สำหรับข้อด้อยของเอ็นจิ้นนี้ก็เช่นเดียวกับใน Id Tech 5 คือประสบปัญหาพื้นผิวผลุบโผล่บ่อยครั้ง แต่สำหรับ Unreal Engine นั้นยังแถมวัตถุอื่น ๆ มาให้อีกด้วย แต่ก็นับว่าเล็กน้อยมากครับเมื่อเทียบกับจุดเด่นของเอ็นจิ้นนี้
CryEngine
สุดยอดเอ็นจิ้นจาก Crytek โดยเวอร์ชั่นแรกนั้นได้ถูกนำไปใช้กับเกม FarCry ที่เป็นเกมใช้ทดสอบความแรงเครื่องอยู่หลายปีจนกระทั่ง Crysis ที่ใช้ CryEngine เวอร์ชั่นที่สองออกมา และก็ได้ทำให้หลายคนร้องไห้สมชื่อเพราะนับได้ว่าเป็นเอ็นจิ้นที่กินสเปคเครื่องมากที่สุดตลอดกาลอันเกิดขึ้นมาจากการเขียนโค้ดที่ไม่กระชับ ทำให้เกิดประโยคกวน ๆ ขึ้นมาประโยคหนึ่งว่า “เล่น Crysis ได้อ๊ะเปล่า!?” (Can it run Crysis?) อยู่หลายปีจนกระทั่งต้องถูกการ์ดกราฟิกรุ่นปัจจุบันโค่นลงได้ในที่สุด
สำหรับ CryEngine ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดนั้นได้รับการแก้ไขข้อบกพร่องที่เคยเกิดขึ้นในรุ่นเก่าแทบทั้งหมดแล้ว และถูกออกแบบให้ใช้งานร่วมกับคอนโซลด้วย สำหรับจุดแข็งของเอ็นจิ้นนี้ก็คือรองรับเทคโนโลยีการแสดงผลในปัจจุบันแทบจะทุกชนิดเท่าที่จะนึกออก ทั้งการให้แสงเงารูปแบบใหม่ และเทคนิคยิบย่อยอย่างลูกเล่นฝุ่นผงที่ปลิวไปตามทิศทางลมหรือแรงดึงดูด เป็นต้น
สำหรับจุดด้อยก็เช่นเดียวกับเอ็นจิ้นอื่นที่ออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับเครื่องคอนโซลตัวอื่น นั่นก็คือเทคโนโลยีใหม่ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ ต้องออกแพชแก้ไขตามมาอย่างที่เกิดขึ้นกับ Crysis 2 ที่ต้องมีแพช DirectX 11 ออกมาภายหลังครับ
Creation Engine
สุดยอดเอ็นจิ้นอีกตัวที่อยู่เบื้องหลังเกมดังอย่าง The Elder Scrolls V: Skyrim นี้ไม่ได้ถูกพัฒนาโดย Bethesda แต่มาจากมันสมองของทีม Emergent Game Technologies ที่ได้ออกเวอร์ชั่นแรกของเอ็นจิ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 2003 ภายใต้ชื่อ Gamebryo และได้รับการพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็น Creation ในปัจจุบัน
สำหรับจุดแข็งของเอ็นจิ้นตัวนี้คือ มีความเป็นโมดูลาร์ที่สามารถนำเทคโนโลยีอื่นมาเสริมต่อขยายได้มากมาย สามารถเข้าถึงซอสโค้ดได้ง่าย และรองรับการเขียนสคริปต์ที่มีความซับซ้อน ทำให้เหมาะกับเกมแนว Open World เป็นอย่างยิ่ง แต่ก็เป็นเหมือนกับดาบสองคมเพราะว่าการที่ผู้พัฒนาสามารถนำส่วนต่อขยายมาใช้กับเอ็นจิ้นได้ตามใจชอบนั้น ทำให้ตัวเกมอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ง่ายถ้าไม่ได้รับการขัดเกลาที่ดีพอ อีกทั้งยังไม่รอบรับ DirectX 11 และเอ็นจิ้นฟิสิกส์ในตัว และยังไม่รองรับโปรเซสเซอร์หลายแกนในพีซีด้วย เพราะถูกออกแบบให้รองรับคอนโซลเป็นหลักตั้งแต่ต้นนั่นเอง
Frostbite
เอ็นจิ้นจาก Digital Illusions Creative Entertainment (DICE) สัญชาติสวีเดนตัวนี้สร้างชื่อมาจากการใช้งานร่วมกับเกมชั้นนำอย่าง Battlefield 3 Battlefield 4 และ Need for Speed: The Run จากค่าย EA โดยมีจุดแข็งคือได้รับการออกแบบให้รองรับเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่ในพีซีระดับบนอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น DirectX 11 หรือการประมวลผล 64 บิต รวมทั้งการให้ภาพแสงเงาแบบรีลไทม์ที่สวยงาม รวมทั้งยังมีความยิดหยุ่นมาก ทำให้สามารถให้ภาพที่สวยงามได้แม้จะเปิดที่การแสดงผลต่ำ